ทำความรู้จักผ้าสะท้อนน้ำ มีคุณสมบัติอย่างไร แตกต่างจากผ้ากันน้ำหรือไม่?
Author : Panthip MongkonpetchsiriTextile Specialist
สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มที่ใช้กันในปัจจุบัน นอกจากจะมีความหลากหลายทางด้านสีสัน เนื้อผ้าต่าง ๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากเนื้อผ้าอื่นหรือการเพิ่มมูลค่าให้เนื้อผ้า เราเรียกมันว่า การตกแต่งสำเร็จหรือ ศัพท์เฉพาะทางสิ่งทอเราจะเรียกว่า การ Finishing ค่ะ การตกแต่งสำเร็จหรือการ finishing นี้ เป็นการเพิ่มคุณสมบัติเนื้อผ้าให้แตกต่างออกไปทางกายภาพ ซึ่งมีหลากหลายฟังก์ชั่นมาก เช่น การทำผ้าสะท้อนน้ำ (Water repellent fabric), ผ้ากันแบคทีเรีย (Anti-Bacteria fabric), ผ้ากันแดด (Anti UV Protection fabric), ผ้ากันไฟ (Flame Retardant fabric), ผ้ากันน้ำ (Water Proof fabric) และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดพัฒนา
บทความนี้ขออธิบายถึง ผ้าสะท้อนน้ำ ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร แตกต่างจากผ้ากันน้ำหรือไม่ มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะคะ
ผ้าสะท้อนน้ำ หรือที่เรียกว่า Water repellent fabric ผ้าสะท้อนน้ำ คือ การเพิ่มเคมีไปบนผิวผ้าในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต ก่อนจะอบออกมาเป็นผ้าม้วน เคทีที่ใช้ทำให้ผ้ามีแรงตึงผิวที่ต่ำกว่าน้ำ เมื่อโดนละอองน้ำ จึงทำให้เกิดลักษณะเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว (Lotus effect) คือผ้าจะไม่เปียกนั่นเอง แต่ ๆ ๆ ถามว่าผ้าสะท้อนน้ำเปียกได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้แน่นอนค่ะ
ผ้าสะท้อนน้ำ มีคุณสมบัติ ช่วยสะท้อนน้ำบางส่วนตามชื่อเรียกเลย แต่เมื่อมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเช่น มีแรงขัดถูบนผิวผ้า มีการกระแทกบนเนื้อผ้า ที่มีความรุนแรงขึ้น หรือการโดนผงซักฟอกเข้าไปก็ทำให้ผ้าเปียกได้ปกติค่ะ

คุณสมบัติของผ้าสะท้อนน้ำ เป็นคุณสมบัติที่ไม่คงทนถาวร สามารถเสื่อมลงได้เรื่อย ๆ เมื่อมีการใช้งานและการซัก ดังนั้น มาตรฐานของผ้าสะท้อนน้ำจึงมักทดสอบค่าความคงทนหลังการซักโดยนับเป็นครั้ง เช่น การการันตีว่าผ้าสามารถสะท้อนน้ำหลังการซักได้ถึง 20 - 30 ครั้ง
โดยปกติการทดสอบผ้าสะท้อนน้ำมักทดสอบง่าย ๆ เช่นการหยดน้ำ ลงบนผิวผ้า (Water drop test) และการทดสอบแบบ Spray test คล้ายๆการจำลองฝนตกใส่ผ้าค่ะ ผ้าสะท้อนน้ำสามารถกันไม่ให้น้ำไหลผ่านตัวผ้า แต่ว่า อากาศยังสามารถผ่านตัวผ้าได้ดี ดังนั้นผ้าสะท้อนน้ำ มักนิยมนำไปทำเครื่องนุ่งห่ม ต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ เช่น ผ้าปิดจมูก ชุดผ่าตัด ชุดสัตว์เลี้ยง ที่นอนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ในส่วนของ ผ้ากันน้ำ (Water proof) ผ้าประเภทนี้ให้เรานึกภาพของผ้าใบก็ได้ค่ะ เนื้อผ้าจะกันน้ำถาวรตลอดอายุการใช้งาน เป็นการเคลือบพลาสติกอีกชั้นเพื่อให้มีคุณสมบัติกันน้ำ ผ้ากันน้ำนอกจากจะไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านตัวผ้าแล้ว อากาศก็ไม่สามารถไหลผ่านได้ กันน้ำแบบ 100% ไปเลย ผ้าประเภทนี้จึงไม่ค่อยนิยมนำมาทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพราะอากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ ทำให้สวมใส่ไม่สบาย ผ้ากันน้ำมักจะถูกนำไปทำสินค้าเช่น เฟอร์นิเจอร์ ผ้าใบ ร่ม เป็นต้น
หลายคนเข้าใจผิดว่าผ้าสะท้อนน้ำ และผ้ากันน้ำเป็นผ้าแบบเดียวกัน แต่บอกเลยว่าแค่คล้าย ๆ ไม่เหมือนซะทีเดียว ลองมาดูตารางเปรียบเทียบง่าย ๆ ดูนะคะ
คุณสมบัติ | ผ้าสะท้อนน้ำ
Water Repellent fabric | ผ้ากันน้ำ
Waterproof fabric |
กันน้ำ | กันได้ชั่วคราว คุณสมบัติลดลงเมื่อใช้งานไปนานๆ | กันน้ำ 100% คงทนถาวร จนกว่าผ้าจะขาด |
การไหลเวียนของอากาศ | อากาศสามารถถ่ายเทได้ | ไม่ถ่ายเทอากาศเลย |
ลักษณะเนื้อผ้า | ผ้ายังคงนุ่ม ยืดหยุ่นได้ดี | ผ้าแข็ง ไม่ยืดหยุ่น |