ผ้ามัดย้อมมีกี่ประเภท? แตกต่างกันอย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ
Author : Panthip Mongkonpetchsiri
Textile Specialist
ผ้ามัดย้อมคือผ้าแบบไหน? เชื่อว่าแทบจะทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว แต่บทความนี้จะขออธิบายคร่าวๆ ว่า ผ้ามัดย้อมมีกี่ประเภท ข้อดีข้อเสียของผ้ามัดย้อมแต่ละแบบ มาดูกันค่ะ ว่าเสื้อมัดย้อมแบบที่เราใช้อยู่เป็นเนื้อผ้าแบบไหนกันนะ
เดิมผ้ามัดย้อมทั่วไปจะใช้ผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่นิยมคือผ้าฝ้าย หรือคอตตอน (Cotton) ใช้สีคราม หรือสีธรรมชาติต่างๆในการย้อม แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีสีย้อมที่เข้ามาช่วยเรื่องสีตก ความสดใสของสี หรือแม้กระทั่งผ้ามัดย้อมที่เป็นงานพิมพ์ลายก็กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก
บางคนอาจจะเคยเอาเสื้อเปล่ามาลองทำมัดย้อมด้วยตัวเองดู แล้วสีอาจจะไม่ติด หรือติดไม่ชัด แนะนำให้ดูส่วนผสมของเนื้อผ้าก่อนนะคะว่าใช่คอตตอน 100% หรือเปล่า หากเป็นผ้าผสมระหว่างโพลีและคอตตอน เช่น TC CVC อาจจะติด แค่ส่วนที่เป็นคอตตอนเท่านั้นถ้าเป็น polyester 100% ก็คือจะไม่ติดสีเลยค่ะ
ผ้ามัดย้อมมีกี่ประเภท ตามที่เราเห็นทั่วไปในท้องตลาดขอแบ่งตามประเภทเนื้อผ้าและวิธีมัดย้อมคร่าวๆ ดังนี้
1. เส้นใยธรรมชาติ สามารถใช้ได้ทั้งผ้าคอตตอน ผ้าขนสัตว์ แต่ทั่วไปที่นิยมกันคือ คอตตอน100% ค่ะ
1.1 มัดย้อมคราม (Indigo Dye) ครามจะเป็นการย้อมจากสีธรรมชาติ หรือจากต้นครามนั่นเองค่ะ นิยมนำคอตตอนมาทำมัดย้อมเพราะจะติดสีได้ดี สีของการย้อมครามจะเป็นสีโทนน้ำเงิน ฟ้า การย้อมด้วยวิธีนี้ จริงๆแล้วจะมีขั้นตอนที่ช่วย Fix สี เพื่อลดการสีตกระดับนึง แต่หากสีมีความเข้มมาก ๆ อาจมีสีส่วนเกินหลงเหลือบนผิวผ้า ในการใช้งานช่วงแรกจึงอาจมีสีตก ควรแยกซักจากผ้าสีอ่อนนะคะ
1.2 มัดย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ (Natural Dye) รู้หรือไม่คะว่าวัสดุหลายอย่างในธรรมชาติ แท้จริงแล้วสามารถนำมาย้อมผ้าให้เกิดสีต่าง ๆ ได้ค่ะ เช่น การย้อมผ้าด้วย โคลน ขมิ้น เปลือกไม้ รากไม้ต่างๆ เป็นต้น แต่การย้อมแบบนี้ไม่ได้มีสิ่งที่จะช่วย Fix สี เพื่อให้สีติดได้นาน ดังนั้น เมื่อมีการใช้งานหรือซักไปเรื่อย ๆ จะทำให้สีมีความอ่อนลง
1.3 มัดย้อมด้วยสีสังเคราะห์ สีรีแอคทีฟ (Reactive dye) เพื่อพัฒนาให้ลายมัดย้อมที่ได้มีสีที่สดใสขึ้น ลดปัญหาเรื่องสีตก และมีสีให้เลือกได้หลากหลาย ในปัจจุบันเราจึงเห็นมัดย้อมที่มีหลากสีมากขึ้น เทคนิคนี้ จะให้สีย้อมประเภท รีแอคทีฟ เพราะนอกจากสีที่ได้จะสดใสดีแล้วยังมีขั้นตอนที่ช่วย Fix สีให้ติดคงทนบนผ้าได้ดีขึ้น แต่หากเป็นผ้าที่สีเข้ม ก็ควรแยกซักจากสีอ่อนก่อนในช่วงแรก เพราะมีโอกาสที่สีส่วนเกินจะยังหลงเหลืออยู่บนผิวผ้าค่ะ
1.4 มัดย้อมด้วยสีสังเคราะห์ สีซัลเฟอร์ (Sulphur dye) ต้องบอกก่อนว่าจริงๆการใช้สีประเภทนี้ไม่เป็นที่นิยมแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่ชอบต้นทุนถูกๆเลือกใช้การมัดย้อมด้วยสีประเภทนี้ซึ่งเป็นสีอันตรายต่อรางกายมนุษย์ ไม่แนะนำให้ใช้เลยค่ะ หากสงสัยว่าเสื้อมัดย้อมของเราใช้สีประเภทนี้หรือไม่ ลองสังเกตุดูว่า เป็นมัดย้อมสี โทนเข้ม แล้วซักหลายต่อหลายครั้งก็ยังมีสีตกอยู่ตลอดก็นั่นแหละค่ะ
2. เส้นใยสังเคราะห์ หลายคนอาจเคยเห็น ผ้ามัดย้อมไมโคร ลวดลายต่างๆ ปกติแล้วเส้นใยสังเคราะห์ทั่วไปไม่สามารถนำมาทำมัดย้อมด้วยวิธีการเดียวกับเส้นใยธรรมชาติได้ เพราะการจะทำให้เส้นใยสังเคราะห์ติดสีได้ต้องใช้ความร้อนสูงมากกว่า 130 องศาเซลเซียส และสีที่ใช้กับเส้นใยสังเคราะห์ก็ต้องเป็นสีประเภท ดิสเพอร์ส (Disperse) ดังนั้นเราจึงใช้เทคนิคการพิมพ์ลายมัดย้อมบนผ้าไมโครค่ะ
ข้อดีของการพิมพ์ลายมัดย้อม วิธีนี้คือ ประหยัดเวลา สามารถผลิตออกมาได้จำนวนมาก ผ้าที่ได้มีความนุ่มลื่น และที่สำคัญ สีไม่ตก ถือเป็นจุดขายของผ้ามัดย้อมไมโครเลยค่ะความแตกต่างข้อดีข้อเสียของผ้ามัดย้อมแต่ละประเภทแบบง่ายๆ สามารถดูได้จากตารางนี้ค่ะ
ผ้ามัดย้อมไมโคร | ผ้ามัดย้อมคราม | ผ้ามัดย้อมสีรีแอคทีฟ | ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติอื่น ๆ | |
ประเภทผ้าที่ใช้ | ผ้าโพลีเอสเตอร์100% | ผ้าฝ้าย (Cotton) 100% | ผ้าฝ้าย (Cotton) 100% | ผ้าฝ้าย (Cotton) 100% |
เทคนิคการทำให้เกิด ลวดลายมัดย้อม | พิมพ์บนผ้าม้วน | มัดย้อมจากเสื้อสำเร็จ | มัดย้อมจากเสื้อสำเร็จ | มัดย้อมจากเสื้อสำเร็จ หรือผ้าเป็นผืน |
สีตก (colorfastness) | สีไม่ตก | ถ้าสีเข้มสีอาจ | สีไม่ตก แต่ถ้า Fix สีไม่สมบูรณ์ | ถ้าสีเข้ม |
ราคาต่อเสื้อ 1 ตัว | ราคาถูก | ราคาปานกลาง-สูง | ราคาปานกลาง-สูง | ราคาปานกลาง-สูง |
| ผ้านุ่มลื่น | ผ้าใส่สบาย | ผ้าใส่สบาย | ผ้าใส่สบาย |
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อ หรือสนใจมองหาผ้ามัดย้อมแต่ละประเภทนะคะ ท่านที่อยากเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง หากต้องการเข้ามาเลือกลายผ้ามัดย้อม หรือต้องการสัมผัสเนื้อผ้ามัดย้อมไมโคร สามารถเข้ามาได้ที่ ตลาดผ้าจงสถิตย์ ได้เลยค่ะ
Line OA: @startupjs (https://lin.ee/hyQIAo2)
www. taladpha.com
☎ : 090-686-0770
หากบทความนี้เป็นประโยชน์ ช่วยแชร์ไปเป็นความรู้ได้นะคะ